รู้จักตัวเอง

       
         องค์ประกอบหลายอย่างที่ควรนำมาพิจารณากันอย่างรอบคอบก่อนการตัดสินใจ   โดยมีข้อคิดในการตัดสินใจเลือกทางศึกษาต่อ  ดังนี้
 1.รู้จักตนเอง
2.รู้จักโลกของอาชีพ
3.รู้จักโลกของการศึกษาต่อ

1. รู้จักตนเอง
         1.1  บุคลิกภาพ
                   คือ  ลักษณะและคุณสมบัติทั้งร่างกายและจิตใจ ได้แก่  รูปร่าง  หน้าตา  กิริยา  การแสดงออก  อารมณ์  น้ำเสียง  การพูดจา  ไหวพริบ  ความเชื่อมั่น  รวมทั้งรู้จักทักษะ  ความสามารถพิเศษ  ความถนัดที่แท้จริง   ทัศนคติ  และค่านิยมของตนเองด้วย
การค้นพบตนเองในด้านนี้มีวิธีการมากมาย   วิธีง่ายที่ไม่เสียเวลามาก  ได้แก่  การทำแบบทดสอบต่าง ๆ ซึ่งจะมีแบบทดสอบความสนใจ  ความถนัด  ค่านิยม  บุคลิกภาพ  ฯลฯ
         1.2  ความชอบหรือความสนใจ
                   ในการเลือกอาชีพที่เหมาะสมกับตนเอง  เราควรนำเอาผลการสำรวจในด้านต่าง ๆ   มาประมวลเพื่อประกอบการพิจารณา  เช่น  มีบุคลิกภาพแบบใด  ความสามารถด้านใด  ชอบทำกิจกรรมอะไร  สิ่งเหล่านี้จะช่วยให้เราพิจารณาตนเองได้ว่าเราควรประกอบอาชีพอะไร  ซึ่งหากเลือกอาชีพใดได้ตรงกับคุณสมบัติของตัวเองแล้ว  จะทำให้ประกอบอาชีพนั้นอย่างมีความสุข  มีผลงานที่มีประสิทธิภาพน่าพอใจ  คนแต่ละคนมีความชอบและความสนใจที่แตกต่างกัน  ความสนใจนี้จะสังเกตได้จากการที่นักเรียนชอบทำกิจกรรมใดอยู่เสมอ ๆ  หรือบ่อย    กว่ากิจกรรมอื่น
         1.3  ความถนัด
                   การที่บุคคลจะวางแผนในอนาคตได้อย่างถูกต้องเหมาะสมกับตัวเองได้นั้น   สิ่งหนึ่ง ที่เป็นปัจจัยสำคัญ  คือบุคคลต้องรู้จักความถนัดของตนเอง  ทุกคนมีความถนัดในแต่ละด้านแตกต่างกันไป   เมื่อเราทำสิ่งใดได้ดีก็จะทำให้เรามีความสุข   และเกิดความภาคภูมิใจในตัวเอง  การรู้จักจุดด้อยของตัวเองจะช่วยให้เราพัฒนาได้ถูกต้อง  และเรียนรู้ที่จะปรับปรุงด้านที่ไม่ถนัด  ความถนัดและความสนใจมักเป็นสิ่งที่คู่กันไป  ความถนัดนี้อาจสังเกตได้จากการที่บุคคลทำกิจกรรมใดหรือสิ่งใดแล้วทำได้ดี   คล่องแคล่ว   ทำแล้วประสบความสำเร็จ
         1.4  สติปัญญาและความสามารถ
                    การที่จะดูว่าสติปัญญาหรือความสามารถดีไม่ดี  อาจดูได้จากระดับคะแนนหรือผลการเรียนที่ผ่านมาในสมุดรายงานประจำตัวนักเรียนดูว่าในแต่ละวิชาที่สอบไปแล้วได้ระดับคะแนนหรือผลการเรียนเป็นอย่างไร   ถ้าได้ระดับการเรียนหรือผลการเรียนในวิชานั้นสูง   ก็แสดงว่าระดับสติปัญญาหรือความสามารถในการเรียนวิชานั้นสูง   แต่ถ้าระดับคะแนนหรือผลการเรียนในวิชานั้นต่ำ  ก็แสดงว่าสติปัญญาหรือความสามารถในการเรียนวิชานั้นต่ำ
ส่วนหนึ่งที่เราควรรู้คือ   รู้ว่าตนเองมีความสามารถด้านใดบ้าง   เพราะสิ่งนี้จะช่วยทำให้เรา  เลือกแนวทางเหมาะสมกับตนเองมากที่สุด  เราควรคำนึงว่าเราไม่จำเป็นต้องเก่งในด้าน                   ที่เหมือนกับคนอื่น  เพียงแต่มีความสามารถในด้านใดด้านหนึ่งเพียงด้านเดียว   แต่เชี่ยวชาญในทักษะด้านนั้น ๆ  มากก็เพียงพอแล้ว
         1.5  เป้าหมายในชีวิต
                   ควรตั้งเป้าหมายในอนาคตว่า  ต้องการประกอบอาชีพใด  เพื่อจะได้ศึกษาต่อในสาขาวิชาที่สอดคล้องกับอาชีพที่นักเรียนสนใจ  มีความถนัดและสอดคล้องกับบุคลิกภาพของตน  นักเรียนควรใส่ใจที่จะวางเป้าหมายให้กับชีวิตตนเอง  ไม่ว่าจะเป็นการเลือกสาขาวิชาเรียน  การเลือกอาชีพ   ส่วนใหญ่จะเรียนตามที่โรงเรียนกำหนด  เรียนตามเพื่อน   ตามความนิยมของสังคม  สิ่งเหล่านี้ทำให้เราไม่ทราบว่า  จะทำอย่างไรกับอนาคตตนเอง  การวางแผนชีวิตเป็นสิ่งสำคัญ   เราควรรู้ว่าตนเองต้องการทำอะไรกับชีวิตตนเอง   จะไปที่ไหนและไปอย่างไร   ทั้งนี้การวางแผนชีวิตต้องอยู่บนรากฐานของความเป็นจริงของแต่ละบุคคลด้วย
         1.6  สภาพทางเศรษฐกิจและครอบครัว
                   พิจารณาว่าฐานะทางบ้านเป็นอย่างไร  พอที่จะส่งเสียให้ศึกษาต่อได้เพียงใด  เพราะการศึกษาต่อในระดับสูงขึ้นไปนั้น  บางสาขาวิชาจำเป็นต้องใช้ทุนในการศึกษามาก  แต่บางสาขาวิชาอาจใช้เวลาในการศึกษาระยะสั้น ๆ  ใช้ทุนในการศึกษาไม่มาก  ทั้งนี้แล้วแต่สถานศึกษาหรือสาขาวิชาที่เลือกเรียน
         1.7  ค่านิยม
                   การที่บุคคลจะวางแผนอนาคตได้อย่างถูกต้องกับเหมาะสมกับตนเองได้นั้น  สิ่งหนึ่ง ที่เป็นปัจจัยสำคัญมากก็คือ   ต้องรู้ค่านิยมในงานที่ตนยึดไว้เป็นหลักสำคัญ  ค่านิยมในตนเองมีผลต่อการเลือกแนวทางต่าง ๆ  ในชีวิตของเราเสมอ   การสำรวจค่านิยมในงาน  จะช่วยชี้นำไปสู่อาชีพที่ตรงกับความต้องการของเรา  มี่โอกาสประสบความสำเร็จในหน้าที่การงานสูง   แต่ทั้งนี้เราควรนำคุณสมบัติในด้านอื่น ๆ  มาปาระกอบกับค่านิยมของตนเองด้วย  เพื่อช่วยให้การพิจารณาอาชีพที่เราควรเลือกทำเมื่อจะไปประกอบอาชีพในอนาคตอีกด้วย
         1.8  รูปร่างและลักษณะของร่างกาย
                   สถานศึกษาหลายแห่งกำหนดคุณสมบัติเกี่ยวกับรูปร่าง  และลักษณะของทางร่างกายไว้ด้วย  เช่น  สถานศึกษาด้านทหาร  ตำรวจ  พลศึกษา  จะต้องเป็นคนที่มีสุขภาพดี  คือ  มีร่างกายสมบูรณ์  แข็งแรง  (มีส่วนสูง  สัมพันธ์กับน้ำหนัก)  มีลักษณะสมชาย   และต้องไม่พิการทางสายตา  เป็นต้น

2.  รู้จักโลกของอาชีพ
          2.1  ลักษณะงาน
                   งานที่จะต้องทำเป็นประจำมีลักษณะอย่างไร   ผู้ทำงานจะต้องทำอะไรบ้าง  เป็นงานที่ทำให้เกิดความเพลิดเพลินหรือก่อให้เกิดความเบื่อหน่าย  งานใหญ่หรืองานเล็ก  มีความรับผิดชอบที่สำคัญหรือไม่   ต้องเกี่ยวข้องกับตัวเลข  สิ่งของ  หรือคน  ต้องใช้เครื่องมืออุปกรณ์มากหรือไม่ต้องนั่งทำงาน  ยืนทำงาน  ต้องเดินทางหรือไม่   นักเรียนควรศึกษาลักษณะงานแต่ละอาชีพ ว่างานแต่ละอย่างนั้นมีลักษณะการปฏิบัติงานอย่างไร  มีจุดดี  จุดเด่นอย่างไร
         2.2  คุณสมบัติของผู้ประกอบอาชีพ
                   ศึกษาถึงรายละเอียดของคุณสมบัติที่งานแต่ละอาชีพต้องการ  ต้องมีความสามารถพิเศษด้านใดบ้าง  มีข้อจำกัดในการประกอบอาชีพอย่างไร  ได้มีการกำหนดช่วงอายุในการทำงานและเกษียณไว้อย่างไร  อาชีพนั้น ๆ  โดยทั่วไปเป็นอาชีพสำหรับเพศหญิงหรือเพศชาย  หรือให้โอกาสแก่ทั้งหญิงทั้งชาย  หรือให้โอกาสแก่เพศใดเพศหนึ่งมากกว่า
         2.3  โอกาสก้าวหน้าในอาชีพ
                   อาชีพนั้น ๆ จะมีความก้าวหน้าเพียงใด  จะต้องมีการศึกษาอบรมเพิ่มเติมมีความสามารถหรือประสบการณ์อย่างไรจึงจะได้เลื่อนขั้นมากน้อยเพียงใด   การประกอบอาชีพเดิมนำไปสู่อาชีพใหม่หรือไม่
         2.4  ตลาดแรงงาน
                   เป็นข้อมูลเกี่ยวกับความต้องการผู้ทำงานในด้านต่าง ๆ  ในปัจจุบัน   และการพยากรณ์ที่จะมีความต้องการเพิ่มขึ้นหรือลดลงในอนาคต   ซึ่งอาจจะเป็นตัวกำหนดได้ว่า  ถ้านักเรียนเรียนจบ ในสาขานั้น ๆ แล้ว  นักเรียนมีโอกาสในการมีงานทำมากน้อยเพียงใด

3.  รู้จักโลกของการศึกษาต่อ
         3.1  คณะที่เปิดสอน
                   นักเรียนควรศึกษาดูว่าคณะที่สนใจนั้นเปิดสอนในมหาวิทยาลัยใดบ้าง  และบางครั้งการใช้ชื่อเรียกคณะในมหาวิทยาลัยอาจจะใช้ไม่เหมือนกันและเนื้อหาที่เรียนคล้ายคลึงกัน  เช่น  คณะศึกษาศาสตร์กับคณะครุศาสตร์  เป็นต้น
         3.2  รายละเอียดของหลักสูตร
                   นักเรียนควรศึกษารายละเอียดของการเรียนให้ละเอียดว่าตลอดระยะเวลาที่เรียนในคณะนั้นๆ  นักเรียนจะได้เรียนวิชาอะไรบ้าง
         3.3  โอกาสในการประกอบอาชีพ
                   ศึกษาดูโอกาสในการมีงานทำของแต่ละคณะว่ามีตลาดแรงงานรองรับมากน้อยแค่ไหน  เพื่อเป็นองค์ประกอบในการตัดสินใจ
         3.4  ขั้นตอนการสอบคัดเลือก
                   นักเรียนต้องติดตามว่า  คณะที่สนใจนั้นมีวิธีรับผ่านช่องทางใดบ้าง   เช่น  รับตรง   รับนักเรียนโควตา  รับผ่านระบบกลาง   และรับเป็นจำนวนกี่คน

กระบวนการตัดสินใจเลือกอาชีพ   เป็นกระบวนการที่บุคคลจะพิจารณาเพื่อประกอบการตัดสินใจ  เป็นกระบวนการที่สลับซับซ้อน  เช่น  ต้องพิจารณาค่านิยม  ความสนใจ  ความถนัด   และคุณสมบัติอื่น ๆ  การตัดสินใจสัมพันธ์กับทักษะที่ได้เรียนรู้  ลักษณะที่เป็นเอกลักษณ์ของบุคคล   เช่น  หลักในการตัดสินใจ  เป็นการสำรวจหนทางที่   จะเป็นไปได้กำหนดว่าจะทำอะไร  จะเกิดผลอะไร  ในการตัดสินใจ  เราต้องรู้จักความสามารถความสนใจ  ค่านิยมของตนเองและรู้ประสบการณ์ที่เกี่ยวข้อง  นำความรู้ไปพิจารณาตัวเลือกต่าง ๆ   ถ้าได้ข้อมูลมากเท่าใด  บุคคลนั้นก็มีโอกาสได้ผลที่พึงปรารถนามากขึ้นเท่านั้น   ข้อมูลจากการประเมินนำไปสู่การอภิปรายลักษณะพิเศษของบุคคลที่สามารถเชื่อมโยงกับความต้องการทางการศึกษาและอาชีพคนเรามีความถนัด   ความสามารถ  และความสนใจในงานอาชีพแตกต่างกัน  บางคนเหมาะที่จะทำงานด้านหัตถกรรม   บางคนเหมาะที่จะทำงานเกี่ยวกับเครื่องจักรกล  หรืองานทางด้านวิทยาศาสตร์  ส่วนบางคนเหมาะกับงานทางด้านที่จะสอนดนตรี  แต่ละคนย่อมแตกต่างกัน   ข้อสำคัญคือต้องรู้จักตนเอง  และรู้จักงานอาชีพต่าง ๆ  อย่างกว้างขวาง  รวมทั้งพิจารณาดูว่า  มีงานอะไรบ้างที่ชอบและสนใจมากที่สุด  และงานนั้น ๆ เหมาะกับอุปนิสัยและบุคลิกภาพหรือไม่


ขอขอบคุณแหล่งที่มา : http://guidance.obec.go.th/?p=1033

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น